การทำประกันบ้าน มักถูกพ่วงมากับการกู้ซื้อบ้านเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่ก่อนจะตัดสินใจทำประกันใด ๆ ลองมาทำความเข้าใจกับประกันเกี่ยวกับบ้านกันก่อนดีกว่า เจ้าของบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันที่มีบ้านโดยผ่านขั้นตอนการขอสินเชื่อ ต่างโอดครวญกันมาหลายเสียง เกี่ยวกับข้อเสนอขายกรมธรรม์ที่พ่วงมาเป็นเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ด้วยจำนวนเบี้ยประกันบ้านที่ถือว่าสูงมากและจ่ายในงวดเดียว ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร
ปกติแล้วประกันบ้านที่พ่วงมากับสินเชื่อเพื่อบ้านจะมีอยู่เพียง 3 ประเภทเท่านั้น คือ ประกันอัคคีภัย เป็นประกันที่คุ้มครองบ้านจากการเกิดอัคคีภัย คุ้มครองเฉพาะตัวบ้านไม่รวมถึงที่ดิน เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้น สำหรับบ้านที่ไม่มีภาระหนี้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะเป็นของเจ้าของบ้านโดยตรง แต่ถ้าบ้านติดจำนองอยู่กับธนาคารผู้รับผลประโยชน์คือธนาคารโดยหักไปกับหนี้ที่เหลือ เจ้าของบ้านจะมีหนี้น้อยลงหรือหมดไปแล้วแต่กรณี ประกันอัคคีภัยจะครอบคลุมความเสียหายของบ้านจากเหตุต่าง ๆ 3 เหตุการณ์
– ไฟไหม้
– ฟ้าผ่า
– แก๊สจากการทำแสงสว่างหรือใช้ประโยชน์ในบ้าน แต่ไม่รวมการระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหว
– ความคุ้มครองอื่น ๆ ที่ระบุเพิ่มเข้ามาในกรมธรรม์
ประกันอัคคีภัย จะเป็นประกันภัยที่ทำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องทำเป็นประจำ เช่น ทุกปี หรือทุก 2-3 ปี ยิ่งเลือกระยะเวลาในการประกันที่มาก ค่าเบี้ยประกันจะยิ่งถูกลง เบี้ยประกันของประกันอัคคีภัยไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นเท่าไร จะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันและลักษณะอาคาร แต่ส่วนใหญ่สำหรับบ้านเดี่ยวจะไม่เกิน 0.1% เป็นประกันภัยซึ่งกฎหมายบังคับให้บ้านใหม่ทุกหลังต้องทำ
ประกันภัยพิบัติ คุ้มครองบ้านจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหวและพายุ โดยต้องเป็นภัยธรรมชาติที่เข้าเงื่อนไขเป็นภัยพิบัติ ดังนี้
– มีการประกาศเป็นภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
– ค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
– แผ่นดินไหว ความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป
– พายุ ความเร็วลมตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ประกันภัยพิบัติจะไม่ครอบคลุมบ้านในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือทางน้ำผ่าน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐอยู่แล้ว ประกันภัยพิบัติสำหรับบ้านอยู่อาศัย จะต้องเสียเบี้ยประกัน 0.5% ของราคาบ้านต่อปี เป็นประกันที่รัฐบาลไม่ได้บังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้